วัดสายตา ประกอบแว่นโดยจักษุแพทย์ สามารถเลือกเลนส์แว่นตาได้ทั้งเลนส์กันแสงอุปกรณ์ดิจิตอล (Blue block lens) เลนส์เปลี่ยนสีเวลาออกแดด (Transition Lens) เลนส์ 2 ชั้น และเลนส์ไร้รอยต่อ (Progressive) ร้านแว่นตามีแว่น ให้เลือกหลากหลายรูปแบบตามต้องการ
ถ้ามีแว่นตาเดิมควรนำมาด้วย กรณีใส่คอนแทคเลนส์ ควรถอดก่อนวัดสายตาอย่างน้อย 1 วัน ยาหลายชนิดส่งผลต่อการทดสอบการมองเห็น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงการใช้ยาก่อนการตรวจ นอกจากนั้น หากมีความกังวลหรือความสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการตรวจสายตา ควรพูดคุยปรึกษากับแพทย์ให้เข้าใจถึงขั้นตอนการตรวจและผลของการตรวจ
กรณีเด็กบางคน ที่มีการเพ่งในการวัดสายตามาก อาจต้องหยอดยาลดการเพ่ง ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการมองใกล้ลดลง และม่านตาขยาย ทำให้มีอาการสู้แสงไม่ได้และมองใกล้ไม่ชัด ซึ่งยาในกลุ่มนี้มียาที่ออกฤทธิ์ 4-6 ชั่วโมง, นาน 1 วัน ไปจนถึงยาที่ออกฤทธิ์ 2 สัปดาห์ (สามารถสอบถามกับแพทย์ผู้ให้การรักษา)
ก่อนเริ่มขั้นตอนการวัดสายตา ผู้ที่ดูแลจะให้ถอดแว่นตาหรือให้เอาคอนแทคเลนส์ออกก่อน จากนั้นจะให้ยืนหรือนั่งให้ห่างจากแผ่นชาร์ทวัดการอ่าน (Snellen Chart) เป็นระยะห่าง 20 ฟุต (6 เมตร) โดยมองด้วยตาทั้ง 2 ข้าง จากนั้นจะให้ปิดตาทีละข้างด้วยมือหรืออุปกรณ์ที่มี และให้อ่านออกเสียงพยัญชนะ ตัวเลข หรือรูปภาพที่เห็นออกมาดัง ๆ หากมองอักษรหรือสัญลักษณ์ตัวใดไม่ค่อยเห็น อ่านแล้วไม่แน่ใจ ทางผู้ดูแลจะให้เดา การทดสอบนี้จะทำทีละข้าง และถ้าจำเป็นอาจให้ทำซ้ำอีกครั้งโดยใส่แว่นตาและคอนแทคเลนส์
นอกจากนั้น อาจให้ทำการวัดสายตาการมองเห็นระยะใกล้ด้วยการอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขจากแผ่นการ์ดวัดสายตา (Jaeger Chart) ห่างจากใบหน้า 14 นิ้ว (36 เซนติเมตร) โดยอ่านพร้อมกันด้วยตา 2 ข้าง ซึ่งการทดสอบระยะใกล้นี้จะทำเป็นประจำหลังอายุ 40 ปี เพราะความสามารถในการมองเห็นระยะสั้นจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
แพทย์จะเป็นผู้ทดสอบการวัดสายตาของตาแต่ละข้าง เพื่อให้ได้ค่าสายตาที่ถูกต้อง แม่นยำ เหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด